ฟรีดิช "ฟริตซ์" ไครสเลอร์ (เยอรมัน: Friedrich Kreisler; 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1875 - 29 มกราคม ค.ศ. 1962) เป็นนักไวโอลิน นักแต่งเพลงและอุปรากรชาวออสเตรียเชื้อสายยิว-เยอรมัน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน มีผลงานแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงเช่น Liebesfreud, Liebesleid, Sch?n Rosmarin
ไครสเลอร์เป็นนักไวโอลินที่ได้รับการชื่นชมอย่างสูงจากทั้งผู้ฟังและนักไวโอลินด้วยกันเอง น้ำเสียงไวโอลินที่เขาเล่น อบอุ่นนุ่มนวล เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขายังเป็นคนแรกที่ใช้เทคนิคการสั่นนิ้วบนไวโอลินอย่างต่อเนื่อง (continuous vibrato) เป็นแบบอย่างให้นักไวโอลินรุ่นหลังเอาแบบอย่าง
ไครสเลอร์เกิดที่กรุงเวียนนา บิดามีเชื้อสายยิว ในขณะที่มารดาเป็นชาวเยอรมัน เริ่มหัดเล่นไวโอลินตั้งแต่อายุ 4 ปี และศึกษาดนตรีที่ Vienna Conservatory และที่ปารีส เป็นลูกศิษย์ของคีตกวีคนสำคัญเช่น ลีโอ ดีลีบีส, ชูลส์ มัสแน, เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ เขามีชื่อเสียงจากการออกตระเวนแสดงสด โดยนำผลงานดนตรีที่เขาแต่งขึ้นเองมาแสดง โดยอ้างว่าเป็นผลงานของคีตกวีที่มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เขาเพิ่งค้นพบจากห้องสมุดหรือโบสต์ตามสถานที่ที่เขาออกตระเวนแสดง เช่น อันโตนีโอ วีวัลดี (1678–1741), แกตาโน ปุกกานี (1731–1798), ฟรองซัวร์ คูเปอริน (1668–1733) โดยให้เหตุผลว่า หากระบุในการแสดงว่าเป็นเพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง ผู้ชมก็จะไม่ให้ความสนใจ
ผลงานที่มีชื่อเสียงของไครสเลอร์ คือเพลงวอลท์ซ Liebesfreud, Liebesleid และ Sch?n Rosmarin นั้น เขานำออกแสดงครั้งแรกในในปี ค.ศ. 1910 โดยระบุว่าเป็นงาน "3 Viennese Folk Dances" ของโจเซฟ แลนเนอร์ (1801–1843) ชาวออสเตรีย แต่ในการแสดงครั้งหนึ่งที่เบอร์ลิน เขานำสามเพลงนี้ (ที่ระบุว่าเป็นของโจเซฟ แลนเนอร์) มาแสดงเป็นชุดพร้อมกับ Caprice Viennois ที่ระบุชื่อว่าเขาเป็นผู้แต่งเอง การแสดงครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ Berliner Tageblatt ว่า ไครสเลอร์กล้าดีอย่างไร ที่นำผลงานของตัวเองมาจัดแสดงเทียบเคียงกับผลงานของโจเซฟ แลนเนอร์ ผู้ล่วงลับ ไครสเลอร์ตอบโต้ว่าจริงๆ แล้วงานสี่ชิ้นนั้นเขาเป็นผู้แต่งเอง[ต้องการอ้างอิง]
ผลงานของไครสเลอร์ทั้งหมดยังเป็นที่เข้าใจว่าเป็นผลงานของคีตกวีสำคัญ จนกระทั่งเขาอายุ 60 ปี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 นักวิจารณ์ดนตรีของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ ชื่อโอลิน ดาวน์ส ได้ส่งโทรเลขอวยพรวันเกิด โดยแกล้งถามว่าผลงานเพลงที่อ้างว่าเป็นผลงานเก่านั้น เขาเป็นคนแต่งเองหรือไม่ ไครสเลอร์ตอบกลับว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นผู้แต่งผลงานทั้งหมดด้วยตัวเอง ทำให้เกิดเป็นข่าวครึกโครม เหตุการณ์อื้อฉาวนี้มีทั้งผู้โจมตี ในขณะที่บางส่วนก็ยอมรับ